ข้อมูลทั่วไป ของรพ. พิมพ์
เขียนโดย Administrator   
วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม 2008 เวลา 13:00 น.

ข้อมูลทั่วไปของโรงพยาบาลปัตตานี

ประวัติโรงพยาบาลปัตตานี

                 

           แต่เดิมอยู่ในความดำริของเจ้าสฤษดิ์เดชนางกูร สมุหเทศาภิบาลเดิม ประจำมณฑลปัตตานี จึงได้อนุมัติเงินงบประมาณในขั้นแรก จำนวน32,000บาทและทางมณฑลได้รวบรวมเงินจาก
ท่านผู้มีจิตศรัทธาอีกจำนวน7,000บาท ได้เริ่มลงมือดำเนินการก่อสร้างเรื่อยมาแต่ปีพ.ศ.2467ในที่ดินแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร สำเร็จรูป 

แต่เรือนคนไข้และตึกผ่าตัดรวม 2 หลังเท่านั้น ส่วนอาคารโรงเรือนต่าง ๆ เช่น ตึกคนไข้นอก, โรงซักฟอก, โรงครัว, โรงพักศพ,บ้านพักแพทย์และบ้านพักเจ้าหน้าที่ ทางมณฑลดำริจะของบประมาณก่อสร้างในปีถัดไป
           แต่ด้วยเหตุขณะนั้นการเงินของประเทศฝืดเคือง เงินงบประมาณที่จะได้เพื่อก่อสร้างอาคารทำการ และอาคารบ้านพักต่อไปจนแล้วเสร็จจึงจำเป็นต้องชะงักตั้งแต่นั้นมา
ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2478 พณฯ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดปัตตานีเป็นครั้งแรก ได้เห็นตึกที่พักรับแขกของจังหวัด ซึ่งเดิมเป็นจวนสมุหเทศาภิบาลประกอบกับตึกหลังนี้ในขณะนั้นมีลักษณะเหมาะสมจัดเป็นโรงพยาบาลได้ จึงได้ประชุมปรึกษากับคณะกรรมการจังหวัดปัตตานี ในที่สุดคณะกรรมการจังหวัดปัตตานีเห็นพ้องต้องกันว่า สถานที่บริเวณตึกสมุหเทศาภิบาลเดิมมีลักษณะเหมาะสมจัดเป็นโรงพยาบาลได้ เว้นแต่บริเวณสถานที่ถ้าเผื่อไปถึงการขยายตัวของโรงพยาบาลต่อไปในภายหน้าก็ค่อนข้างจะเล็กไป คณะกรรมการจังหวัดปัตตานีจึงได้ตกลงพร้อมกันกำหนดที่ดินอีกด้านหนึ่งของฝั่งใต้คลองสามัคคี ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบริเวณที่ดินสมุหเทศาภิบาล ให้เป็นอาณาเขตบริเวณของโรงพยาบาลด้วย นอกจากนี้คณะกรรมการจังหวัดได้ประชุมเห็นชอบด้วยดำริ พณฯ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ดัดแปลงสมุหเทศาภิบาลเดิมเป็นตึกคนไข้นอก  ของโรงพยาบาลปัตตานี
          ทั้งนี้ เพราะเห็นว่าสถานที่ที่เหมาะสมอยู่แล้ว และทุ่นเงินงบประมาณด้วย โดยสิ้นเงินในการดัดแปลงตึกหลังนี้ในขณะนั้น จำนวน 5,000 บาท ส่วนอาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่พร้อมกันคือ

  1. เรือนคนไข้ จำนวน 2 หลัง ๆ ละ 25 เตียง สิ้นเงินจำนวน 7,000 บาท
  2. โรงครัวและโรงซักฟอกติดกัน จำนวน 1 หลัง สิ้นเงินจำนวน 2,000 บาท
  3. โรงพักศพ จำนวน 1 หลัง สิ้นเงินจำนวน 942 บาท

          เริ่มลงมือดัดแปลงที่พักจวนสมุหเทศาภิบาลเดิมเป็นตึกคนไข้นอก และก่อสร้างโรงเรือนดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2479 ได้ดัดแปลงและก่อสร้างแล้วเสร็จส่งมอบจังหวัด   เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2480 โรงพยาบาลปัตตานีได้ทำพิธีเปิดโดยพระไวยวิธีการ อธิบดีกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยเดิม เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2480 และให้บริการผู้ป่วยโดยมีนายแพทย์เสถียร ตู้จินดา เป็นผู้อำนวยการคนแรก และแพทย์หญิงพรจิต ประพิณวณิชย์ เป็นผู้อำนวยการคนปัจจุบันลำดับที่ 14

ที่ตั้ง และพื้นที่

            โรงพยาบาลปัตตานี ตั้งอยู่ เลขที่ 2 ถนนหนองจิก ตำบลสะบารัง อำเภอเมือง ห่างจากศาลากลางจังหวัด 200 เมตร มีฐานะเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด 335 เตียง
มีหอผู้ป่วยสามัญ 9 หอ รวม 269 เตียง และหอผู้ป่วยพิเศษ 3 หอ รวม 66 เตียง หน่วยงานพิเศษเช่น ห้องผ่าตัด 7 ห้อง หอผู้ป่วยหนัก 8 เตียง หน่วยบริบาลทารก 15 เตียง
ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉินมีเตียงรักษา 4 เตียง เตียงสังเกตอาการ 2 เตียง ห้องตรวจผู้ป่วยนอก 19 ห้อง และหน่วยไตเทียม 5 เตียง เนื้อที่ดินของโรงพยาบาลปัตตานี แบ่งเป็น 2ส่วนโดยมีลำคลองสามัคคีไหลผ่านกลางจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก ไหลลงสู่แม่น้ำปัตตานีบนฝั่งเหนือ ปัจจุบันมีเนื้อที่ รวมทั้งสิ้น จำนวน 25 ไร่ 3 งาน 41 7/10 วา

อาคารสนับสนุนบริการ

1. ตึกอำนวยการ ประกอบด้วยห้องผู้บริหาร ฝ่ายธุรการ ฝ่ายการเงินและบัญชี บริการจ่ายยาผู้ป่วยนอก ห้องตรวจแผนกผู้ป่วยนอก ชันสูตรผู้ป่วยนอก และงานประชาสัมพันธ์
2. อาคารธงไทย ซึ่งเป็นตึกอำนวยการหลังเก่า ดัดแปลงเป็นกลุ่มงานทันตกรรม งานบริการจ่ายยาผู้ป่วยใน งานธนาคารเลือด กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพบริการและวิชาการ กลุ่มงานสุขศึกษาและศูนย์วิกฤตสุขภาพจิต
3. อาคารเวชกรรมฟื้นฟู
4. อาคารเอนกประสงค์ เป็นกลุ่มงานเวชกรรมสังคม กลุ่มการพยาบาล ศูนย์คุณภาพและห้องสมุด
5. อาคารเภสัชกรรม
6. อาคารชิดชล เป็นฝ่ายโภชนาการ งานพัสดุ และห้องประชุม
7. อาคารซักฟอก
8. จ่ายกลาง 

       นอกจากนี้โรงพยาบาลกำลังก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน 6 ชั้น ใหม่ เพื่อทดแทนตึกผู้ป่วยในเดิม ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2510 และ 2515 โดยอาคารผู้ป่วยใน 6 ชั้นนี้ กำลังก่อสร้างบริเวณที่ว่างติดกับอาคารผ่าตัดและอาคารอเนกประสงค์ โดยเป็นอาีคารผู้ป่วยสามัญ อายุรกรรม และพิเศษบางส่วนเพื่อขยายบริการผู้ป่วยในให้สามารถรองรับบริการที่เพิ่มขึ้น

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 09 กรกฏาคม 2013 เวลา 12:23 น.